เลสิก ถือเป็นการผ่าตัดแก้ไขภาวการณ์มีค่าสายตาผิดปกติที่ได้รับความนิยมมาก ยิ่งในยุคนี้ หลายคนมีปัญหาสายตาสั้น บางคนสั้นตั้งแต่เด็กด้วยซ้ำ ใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์มานานหลายปี ก็อาจส่งผลถึงความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้
หลายคนพอมีโอกาสเลยอยากปรับค่าสายตาให้เป็นปกติ จะได้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำเลสิกได้ค่ะ ในบทความนี้ ทางFirst Clinic จะมาบอกถึง 5 ข้อที่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจทำเลสิก จะมีอะไรบ้างสามารถอ่านได้ในบทความนี้เลยค่ะ
5 ข้อต้องรู้ก่อนทำเลสิก
เลสิก ใคร ๆ ก็อยากทำ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้
เลสิก คืออะไร
การทำเลสิก เป็นชื่อเรียกโดยรวมของการปรับค่าสายตาด้วยการยิงเลเซอร์ที่กระจกตา เปรียบได้กับการเจียระไนกระจกตาให้ได้ความโค้งที่ต้องการ เพื่อปรับให้ภาพคมชัด สามารถแก้ไขได้ทั้งสายตาสั้น ยาว และสายตาเอียงที่เป็นมาแต่กำเนิด
ในปัจจุบันมีที่นิยมใช้ 4 แบบ คือ PRK, LASIK ใบมีด, FemtoLASIK และ ReLEx Smile ซึ่งคนไข้แต่ละคน ต้องมาตรวจประเมิน สภาพตาอย่างละเอียด ก่อนเลือกวิธีปรับค่าสายตาค่ะ บางคนสภาพตาดีมากสามารถทำได้ทุกวิธี แต่บางคนทำได้แค่บางวิธีเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการตรวจประเมินสภาพดวงตาก่อน มีความสำคัญมากค่ะ หมอจะให้ข้อมูลก่อนว่าคนไข้สามารถทำเลสิกวิธีไหนได้บ้าง จากนั้นให้คนไข้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกค่ะ
ทำไมบางคนทำเลสิกได้ บางคนทำเลสิกไม่ได้?
ปัจจัยสำคัญที่สุด ที่กำหนดว่าคนไข้สามารถทำเลสิกได้หรือไม่ คือ ความหนา และ ความแข็งแรงของกระจกตา เนื่องจากการทำเลสิกทุกชนิดจะเป็นการยิงเลเซอร์ที่กระจกตา ส่งผลให้กระจกตาบางลงได้
หากคนไข้กระจกตาไม่หนา หรือ แข็งแรงไม่เพียงพอ หมออาจจะไม่แนะนำให้ทำเลสิก แต่จะแนะนำให้ปรับค่าสายตาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกระจกตาแทน เช่น การใส่เลนส์ปรับค่าสายตาเข้าในดวงตา หรือที่เรียกว่า ICL ค่ะ
ทำเลสิกแล้วจะกลับมาสายตาสั้นอีกไหม ทำซ้ำได้หรือเปล่า?

ทำเลสิก จะเป็นการปรับค่าสายตา ณ วันที่ทำนะคะ ซึ่งโดยธรรมชาติสายตาคนเรา อาจมีเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับอายุ (ถ้าอายุน้อยค่าสายตาอาจยังไม่นิ่ง) และ ต้องดูตามการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนไข้
โดยปกติหมอจะแนะนำให้ทำเลสิก หากค่าสายตาเริ่มคงที่แล้ว คือ เปลี่ยนแปลงไม่เกิน 50-100 ในช่วง 1 ปี จะได้ลดโอกาสสายตากลับมาสั้นหรือเอียงเพิ่มในอนาคต
หากสายตากลับมาสั้นอีก ซึ่งโดยมากจะใช้ระยะเวลานาน 5-10 ปีขึ้นไป และสายตาที่กลับมาสั้น จะสั้นไม่มาก โดยอยู่ในช่วงไม่เกิน 100-150 ซึ่งค่าสายตาระดับนี้ ไม่กระทบการมองเห็นมากนัก อาจพิจารณาใส่แว่นเสริม
แต่หากต้องการทำเลสิกซ้ำอีกครั้ง อาจต้องมีการประเมินความหนาของกระจกตา ถ้าเหลือความหนาเพียงพอ สามารถทำซ้ำได้ แต่แนะนำให้ติดต่อที่ศูนย์เลสิกเดิมที่เคยทำนะคะ จะได้มีข้อมูลกระจกตาครบค่ะ
ผลข้างเคียงของการทำเลสิก
การทำเลสิกช่วยให้คนไข้มองเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น หรือ คอนแทคเลนส์ ถ้าถามถึงผลข้างเคียงของการทำเลสิกที่พบได้ในช่วงแรกหลังทำ คือ การมองเห็นแสงไฟแตกกระจายในตอนกลางคืน
ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 เดือน มากน้อยแล้วแต่คน บางท่านเป็นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการขับรถตอนกลางคืนได้ และ อาการตาแห้ง จะอยู่ประมาณ 3-6 เดือน จากนั้นพอกระจกตาปรับสภาพได้ อาการทั้ง 2 อย่างจะดีขึ้นค่ะ
ส่วนผลข้างเคียงระยะยาวที่พบได้ คือ การทำเลสิกจะทำให้กระจกตาบางลง และ การวัดความดันลูกตาจะได้ค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งไม่ส่งผลเสียกับตัวคนไข้ แต่หากมีการตรวจวัดความดันลูกตา เช่น ตรวจสุขภาพตาประจำปี หรือตรวจหาโรคต้อหิน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อคำนวณหาค่าความดันลูกตาที่แท้จริงของคนไข้ค่ะ
ทำเลสิกแล้วการมองเห็นจะกลับมาชัดทุกคนไหม

ทำเลสิก เป็นการปรับค่าสายตาสั้น ยาว เอียงแต่กำเนิดเท่านั้น ไม่ได้ช่วยรักษาตัวโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อม
ดังนั้นหากจะให้ทำเลสิกแล้วได้ผลดีที่สุด คือ สภาพดวงตาต้องแข็งแรงดี ไม่มีโรคตาอื่น ๆ หากภายในดวงตามีโรคอื่น ๆ อยู่ จะทำให้ผลการทำเลสิกไม่ดีเต็มที่ ควรแก้ไขที่สาเหตุ เพื่อการมองเห็นที่ดีที่สุดค่ะ
สรุป เรื่องต้องรู้ก่อนทำเลสิก
สำหรับท่านไหนที่อยากทำเลสิกนะคะ สิ่งที่หมอแนะนำอย่างแรก ๆ เลย คือการเริ่มต้นดูแลดวงตาให้ดี ถ้าดวงตาเราแข็งแรง ก็จะส่งผลดีทั้งก่อน และ หลังทำเลสิก ท่านไหนที่ตาแห้งมาก ๆ ขยี้ตาบ่อย แนะนำให้หยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ
และแน่นอนว่า เราต้องมีการใช้อุปกรณ์ไอทีเป็นประจำ แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านไหนที่อยากทำเลสิก แต่ต้องทำงานหน้าคอมเยอะ จ้องโทรศัพท์นาน ๆ ก็แนะนำให้ใส่แว่นถนอมสายตา หรือ แว่นกรองแสงสีฟ้า จะได้ช่วยปกป้องดวงตาเราอีกทางนึงค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
พ.ญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ (หมอกระแต)
จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา และ การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ
First Clinic ฟิลเลอร์รอบดวงตา โดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ